สุราษฎร์ฯตื่นตา! นกเงือกกรามช้างปากเรียบ อพยพแวะพัก

วันที่ 16 มกราคม 2566 นายวัฒนา พงษ์พันธ์ หัวหน้าศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาท่าเพชร จ.สุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ฯ ได้สำรวจพบนกเงือกกรามช้างปากเรียบ ประมาณ 20 – 30 ตัว บินมาแวะพัก บริเวณผืนป่าเขาท่าเพชร อ.เมืองสุราษฎร์ธานี จ.สุราษฎร์ธานี

นายเกรียงศักดิ์ ศรีบัวรอด หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าคลองแสง กล่าวว่า สำหรับนกเงือกกรามช้างปากเรียบกลุ่มนี้ คาดว่า เป็นนกเงือกที่อพยพมาจากภาคใต้ตอนล่างของไทย โดยบินกลับไปยังเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เพื่อเตรียมทำรัง วางไข่ ระหว่างทางก็แวะพักหากินในหลายพื้นที่ เพื่อหากินระหว่างเดินทาง ตั้งแต่จังหวัดยะลา สงขลา พัทลุง สุราษฎร์ธานี ระนอง ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี และกาญจนบุรี

ซึ่งพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาท่าเพชร ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาท่าเพชร ถือเป็นพื้นที่ป่ากลางเมืองขนาดใหญ่ กลุ่มนกเงือกจึงแวะพักและมาหากินในกลุ่มป่าคลองแสง-เขาสก ซึ่งนกเงือกกรามช้างปากเรียบจะใช้ชีวิตในช่วงอพยพอยู่ทางภาคใต้ของไทยตั้งแต่เดือนมิถุนายน ไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน เมื่อใกล้ช่วงเวลาจับคู่ทำรังวางไข่ก็จะอพยพกลับไปยังผืนป่าห้วยขาแข้งเข้าโพรงรังวางไข่ออกลูก เป็นวงจรชีวิตของนกเงือกกรามช้างปากเรียบในประเทศไทย

นกเงือกกรามช้างปากเรียบ ( Plain-pouchedHornbill ,Rhyticerossubruficollis ) ชนิดนี้จำแนกจากนกงือกกรามข้างหรือกูกี๋ได้ยาก แต่มีขนาดเล็กกว่าและจะงอยปากด้านข้างเรียบมีสีแดง ไม่มีรอยหยัก ถุงใต้ คอไม่มีขีดดำ ทั้งสองเพศมีหางสีขาว ตัวผู้หน้าและคอมีสีขาว กระหม่อมสีน้ำตาลแดง ถุงใต้คอสีเหลือง ตัวเมียมีสีดำทั้งหัว คอและตัว ถุงใต้คอสีฟ้า ปกตินกเงือกกรามช้างปากเรียบจะอยู่กันเป็นฝูง ฝูงละ 6-20 ตัว นอกฤดูทำรังอาจรวมฝูงขนาดใหญ่จำนวนหลายร้อยตัว บินเก่งสามารถบินหากินได้เป็นระยะทางไกลๆ เสียงร้องคล้ายเสียงเห่า แหบๆ สั้นๆอาศัยอยู่ในป่าดงดิบแล้งและป่าเบญจพรรณที่ระดับต่ำจนถึงที่สูงประมาณ 900 เมตรจากระดับน้ำทะเล

แต่เดิมเข้าใจว่าพบอยู่บริเวณฝืนป่าตะวันตก ปัจจุบันพบได้ที่บริเวณอุทยานแห่งชาติบางลางและเขตรักษาพันธุ์ป่าฮาลา-บาลา ทั้งนี้ นกเงือกกรามช้างปากเรียบ เริ่มปิดปากรังในราวเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ลูกนกออกจากโพรงในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ทำรังในต้น สมพง ตะแบก ไทรกระเหรี่ยง และโพรงรังมักเป็นโพรงรังเก่าของนกหัวขวานเสียส่วนใหญ่ การเลี้ยงดูลูกเป็นเหมือนกับนกเงือกกรามช้าง

ที่มา